11 พฤศจิกายน 2020
21 ธันวาคม 2020

กลุ่มเหล็กไทยลุ้น “ไบเดน” ลดอุณหภูมิสงครามการค้า

Update : 18 พฤศจิกายน 2563

 

 

ภายหลังจากสหรัฐอเมริกาได้ผู้นำคนใหม่ คือ “โจ ไบเดน” ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ ซึ่งจะรับตำแหน่งในเดือนม.ค.ปีหน้า ทางกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จึงมีความคาดหวังว่าสงครามการค้าเหล็กโลก น่าจะลดระดับความรุนแรง เพราะแค่การระบาดของโรค “โควิด-19”
ก็ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กทั้งโลกอ่วมหนัก เนื่องจากตลาดหดวูบ

นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กส.อ.ท. เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรค “โควิด-19” ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง จนทำให้
ความต้องการใช้เหล็กรวมของโลกในปี 2563 ถดถอยลง โดยคาดว่าจะเหลือ 1,725.1 ล้านตัน ลดลง 2.4% จากปี 2562 แต่ถ้าไม่รวมประเทศจีนซึ่งมีปริมาณความต้องการ
ใช้เหล็กปี 2563 เพิ่มขึ้น 8% จากปี 2562 ความต้องการใช้เหล็กของโลกจะถดถอยลง -13.3%

สงครามการค้าเหล็กโลกที่รุนแรงมากในระยะหลังนี้มาจากการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล็กจากประเทศจีน และการตอบโต้จากอเมริกา
โดยประธานาธิบดีทรัมป์ใช้มาตรการ Section 232 อ้างความมั่นคงแห่งชาติ กำหนดเพิ่มอากรนำเข้า 25% ซึ่งถือได้ว่าเป็นมาตรการรุนแรงสุดต่อสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม
นำเข้าจากทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2561

จนเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ สหภาพยุโรป หรืออียู ต้องออกมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) สินค้าเหล็กจำนวน มากถึง 28 รายการ ตั้งแต่ต้นปี 2562 และอีก
หลายประเทศทั่วโลกพากันใช้มาตรการทางการค้าต่างๆอย่างรวดเร็วเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ

ในขณะที่ประเทศไทยในช่วงปี 2562-2563 กลับยกเลิกมาตรการ Safeguard สินค้าเหล็ก 2 รายการ โดยยังมีช่องโหว่ไม่สามารถใช้บังคับการตอบโต้การหลบเลี่ยงอากร
ทุ่มตลาด (Anti Circumvention) ได้ อันเป็นสาเหตุให้อุตสาหกรรมเหล็กของไทยถดถอยจนตกอยู่ในภาวะวิกฤติลการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กไทย
ลดเหลือเพียง 30% เท่านั้น จากกำลังการผลิตรวม 23 ล้านตันต่อปี

สำหรับประเด็นที่นานาประเทศกำลังจับตามองว่า ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ว่าที่ประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” จะดำเนินการนโยบายที่เกี่ยวกับ
การค้าโลกอย่างไรและคาดหวังว่าอาจมีการยกเลิกมาตรการ Section 232 กับสินค้าเหล็กนำเข้าหรือไม่

นายนาวา กล่าวว่า ว่าที่ประธานาธิบดีไบเดนเคยแถลงนโยบายช่วงหาเสียงเลือกตั้งไว้ชัดเจนว่าจะยกระดับนโยบาย “Buy American” ที่อเมริกาดำเนินการอยู่แล้ว ให้เป็น
“Made in All of America” โดยคนงานทั้งหมดของอเมริกา โดยเปรียบเทียบว่าภาคอุตสาหกรรมของอเมริกาเคยเป็นเสมือนคลังสรรพาวุธของฝ่ายประชาธิปไตยในช่วง
สงครามโลกครั้งที่สอง และเขาต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมของอเมริกายังคงเป็นคลังสรรพาวุธของความเจริญรุ่งเรืองในปัจจุบันด้วย เพื่อเป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนการฟื้นตัว
ทางเศรษฐกิจสำหรับครอบครัวที่ต้องทำงาน

ขณะที่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในโครงการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งจะมีการลงทุนอย่างมากเป็นประวัติการณ์ จะต้องใช้เหล็กที่ผลิตในอเมริกาอย่างเข้มงวด
อีกทั้งว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ไม่เคยหาเสียงว่าจะยกเลิกมาตรการ Section 232 ต่อสินค้าเหล็ก แต่เน้นว่าจะให้ความสำคัญต่อการทำงานร่วมกันกับประเทศ
พันธมิตร เพื่อปฏิรูปกฎการค้าระหว่างประเทศ

“ดังนั้น เชื่อว่าคงยากที่อเมริกาจะยกเลิกมาตรการ Section 232 ต่อสินค้าเหล็กนำเข้าทั้งหมด” เพราะอาจกระทบต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรมเหล็ก ที่การใช้กำลัง
การผลิตที่เคยขึ้นไปสูงสุดกว่า 80% หลังมีการใช้มาตรการ Section 232 แต่อาจจะมีการทบทวนสร้างสมดุลในการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กภายในอเมริกา
โดยใช้มาตรการที่ผ่อนปรน หรือมีการเจรจากับประเทศที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะเจรจาขอยกเว้นอากรตาม Section 232
ในการส่งออกสินค้าเหล็กไปอเมริกา ซึ่งเคยมีปริมาณมากกว่า 4 แสนตันต่อปี ก่อนมีSection 232แต่ในปัจจุบันเหลือเพียงราว 167,000 ตันต่อปีเท่านั้น

ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท.ยังได้เสนอภาครัฐพิจารณาดำเนินการ 3 มาตรการ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศไทย
ได้แก่ 1.ส่งเสริมการใช้สินค้า “Made in Thailand” 2.ตอบโต้การหลบเลี่ยงอากรทุ่มตลาด (Anti-Circumvention) สินค้าเหล็กนำเข้า และ 3.คัดกรองห้ามตั้งห้ามขยาย
โรงงานเหล็กที่ใช้เทคโนโลยีตกยุค

นายนาวา กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากมาตรการต่างๆที่ภาครัฐได้สนับสนุนแล้ว ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กยังได้พัฒนาตนเองมาโดยตลอด ทั้งการควบคุมต้นทุนการใช้
เทคโนโลยีใหม่ๆมาปรับปรุงกระบวนการผลิต การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เหล็ก
ที่ผลิตในไทยมีส่วนสร้างความเจริญของประเทศชาติ

แหล่งที่มา : ไทยรัฐออนไลน์